27 เมษายน 2016

หนึ่งปีที่ไม่อาจลืมของพนักงานยันม่าร์ที่ได้เข้าร่วมคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาจากญี่ปุ่น

รู้หรือไม่ว่าบริษัทยันม่าร์มีการดำเนินงานที่สถานีโชวะในทวีปแอนตาร์กติกาด้วยเช่นกัน ดูรายงานพร้อมภาพถ่ายจากพื้นที่จริงได้ด้านล่างนี้

คุณทราบหรือไม่ว่าบริษัทยันม่าร์เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานที่สถานีโชวะ ซึ่งตั้งประจำการอยู่ในดินแดนแอนอาร์กติกเซอร์เคิล สถานีโชวะเป็นหนึ่งในสถานีสำรวจวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น มีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ตลอดเวลาประมาณ 30 คน เพื่อทำหน้าที่สำรวจวิจัยสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และสิ่งมีชีวิตภายในพื้นที่ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจวิจัยนี้นอกจากจะช่วยให้เราคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้แล้ว ยังช่วยให้เราเข้าใจสภาวะปัจจุบันของโลกได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนักวิจัยแขนงต่างๆ ภายในคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาจากญี่ปุ่นหรือ Japanese Antarctic Research Expedition (JARE) นี้ยังประกอบไปด้วยสมาชิกที่รับผิดชอบในส่วนอื่นๆ อาทิเช่น การบำรุงรักษาอุปกรณ์ อาหาร หรือการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ และพนักงานยันม่าร์ของเราก็เป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มนี้ เครื่องยนต์ยันม่าร์ 6RL-T ที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินงานที่สถานีโชวะในปี 1983 ได้เป็นอย่างดี ทำให้วิศวกรจากทีมเพาเวอร์ โซลูชั่น บิซิเนสของยันม่าร์มีโอกาสได้เข้าร่วมคณะสำรวจฤดูหนาวในพื้นที่แอนตาร์กติกเป็นครั้งแรก และทำให้ยันม่าร์มีโอกาสได้เข้าร่วมเรื่อยมามากกว่า 30 ปี

พนักงานจากยันม่าร์ที่เข้ารับหน้าที่ในครั้งนี้จะเข้าไปดูแลในส่วนของเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า การบำรุงรักษาระบบท่อและระบบสายไฟ รวมถึงเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ความร้อนและกระแสไฟฟ้าที่ได้จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้านี้ไม่เพียงแต่เป็นแหล่งพลังงานให้กับเครื่องมือและอุปกรณ์สำรวจวิจัยเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งพลังงานให้กับระบบผลิตน้ำร้อน เครื่องทำความร้อน และระบบไฟส่องสว่างภายในศูนย์ สมาชิกทุกคนจึงอาจตกอยู่ในอันตรายได้หากเกิดปัญหาขึ้นกับแหล่งพลังงานนี้ การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องยนต์เพียงหนึ่งเดียวในคณะสำรวจนี้จึงเป็นหน้าที่ที่มาพร้อมกับแรงกดดันอย่างมาก เพราะเขาจะต้องแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างฉับไว งานนี้จึงไม่ใช่งานที่ง่ายเลย

เพจ Official Facebook ของยันม่าร์มีการรายงานข่าวจากสถานีโชวะในแอนตาร์กติกาอย่างต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2012 โดยมีรายงานจากพื้นที่จริงให้เราได้ดูกันประมาณ 1-2 ครั้งต่อเดือน เพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนกำลังใช้ชีวิตและปฏิบัติงานในดินแดนแอนตาร์กติกอย่างขยันขันแข็งอย่างไรบ้าง และเนื่องในโอกาสที่คณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาจากญี่ปุ่นชุดที่ 56 ได้เสร็จสิ้นภารกิจและกำลังเดินทางกลับบ้านในเดือนมีนาคม ปี 2016 เราจึงได้รวบรวมรายงานที่เขียนขึ้นตลอดช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา โดยคุณยูซูเกะ ทาคากิ วิศวกรจากทีมเพาเวอร์ โซลูชั่น บิซิเนส ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะสำรวจชุดที่ 56 นี้ เรามาดูกันว่า บริษัทยันม่าร์มีส่วนช่วยในการดำเนินงานที่สถานีโชวะในทวีปแอนตาร์กติกาอย่างไรบ้าง

เมษายนถึงมิถุนายน คณะสำรวจชุดที่ 56 เริ่มดำเนินงาน ชีวิตในฐานะสมาชิกของคณะสำรวจชุดใหม่

■ภารกิจแรก คือการประเมินระดับความลึกของหิมะ

คุณยูซูเกะ ทาคากิออกเดินทางจากญี่ปุ่นร่วมกับคณะสำรวจชุดที่ 56 โดยเดินเรือผ่านทางออสเตรเลียไปยังดินแดนแอนอาร์กติกเซอร์เคิล และถึงสถานีโชวะในวันที่ 24 ธันวาคม ปี 2014
หลังจากใช้เวลาประมาณ 2 เดือนในการส่งต่องาน คณะสำรวจชุดที่ 55 จึงเตรียมตัวเดินทางกลับมายังญี่ปุ่น การประจำการเป็นระยะเวลา 1 ปี ของคุณยูซูเกะ ทาคากิและทีมคณะสำรวจชุดที่ 56 จึงได้เริ่มต้นขึ้น

ดูโพสต์บน Facebook ได้ที่นี่

สิ่งแรกที่คุณยูซูเกะได้ไปสำรวจดู คือลำแสงแปลกๆ ที่พุ่งตรงขึ้นจากสถานีไปยังท้องฟ้ายามค่ำคืนของแอนตาร์กติก

ลำแสงนี้มีชื่อเรียกว่า "ไมโครพัลส์ ไลดาร์" (Micropulse Lidar: MPL) เป็นลำแสงที่ใช้ประเมินระดับความสูงของหิมะ ลำแสงนี้จะมองไม่เห็นแม้ในที่มืดสนิท เราจะมองเห็นลำแสงนี้ได้ก็ต่อเมื่อแสงสะท้อนออกมาจากเกล็ดหิมะเท่านั้น ในลักษณะเดียวกันกับที่เราจะมองเห็นแสงได้ในภาพถ่ายก็ต่อเมื่อแสงนั้นๆ สะท้อนออกมาจากเกล็ดหิมะนั่นเอง

ลำแสงนี้สามารถช่วยวัดระดับหิมะได้ที่ความสูงสูงสุดถึง 60 กิโลเมตร ข้อมูลนี้จึงถูกนำมาใช้คาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ดูโพสต์บน Facebook ได้ที่นี่

■เติมความตื่นเต้นให้ชีวิตที่จำเจด้วยกิจกรรมประจำฤดูกาล

แม้แต่ที่สถานีโชวะก็ยังมีการเฉลิมฉลองเทศกาลวันเด็กผู้ชายในวันที่ 5 พฤษภาคมตามประเพณีญี่ปุ่น โดยการประดับประดาสถานีด้วยธงปลาคาร์ฟและหมวกนักรบซามูไรโบราณ แม้ธงปลาคาร์ฟจะแขวนอยู่ได้เพียงไม่นานด้วยสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ แต่ปลาคาร์ฟเหล่านี้ก็ยังมีโอกาสได้แหวกว่ายอย่างเต็มกำลังเหนือน่านฟ้าแอนตาร์กติกแห่งนี้

ดูโพสต์บน Facebook ได้ที่นี่

ทานบาร์บีคิวร่วมกันที่ศูนย์อาหาร สร้างความแปลกใหม่จากมื้ออาหารปกติ

เพราะอุณหภูมิด้านนอกติดลบถึง 20 องศา คณะสำรวจของเราจึงเข้ามาอิ่มอร่อยกับบาร์บีคิวมื้อนี้ภายในห้องอุ่นๆ ของอาคารที่ติดตั้งระบบระบายอากาศซึ่งอาศัยพลังงานธรรมชาติเพื่อช่วยปรับอากาศภายในห้อง แม้ว่าเพื่อนร่วมโต๊ะอาหารจะไม่เปลี่ยนไป แต่การเปลี่ยนบรรยากาศใหม่ๆ ก็ทำให้บทสนทนาวันนี้มีชีวิตชีวาขึ้นได้เป็นอย่างดี กิจกรรมเช่นนี้นับว่าจำเป็นอย่างมากหลังจากที่ทุกคนเหน็ดเหนื่อยจากการประจำการมาอย่างยาวนาน

ดูโพสต์บน Facebook ได้ที่นี่

กรกฎาคมถึงกันยายน หนึ่งปีมีครั้งเดียวกับเทศกาลที่จัดขึ้นท่ามกลางการดำเนินงานในหน้าหนาว

■ต่อสู้กับความหนาวสุดขั้วของดินแดนแอนตาร์กติกด้วยเทศกาลกลางฤดูหนาว

เมื่อเดือนกรกฎาคมมาเยือน ปรากฏการณ์โพลาร์ไนท์ (polar night) ที่สร้างความพิศวงให้กับคนส่วนใหญ่ก็เริ่มต้นขึ้น เพราะนี่คือช่วงเวลาที่พระอาทิตย์จะไม่ขึ้นเลยเป็นเวลาหลายวันติดต่อกัน

สมาชิกคณะสำรวจจึงได้จัด ‘เทศกาลกลางฤดูหนาว’ ขึ้นเป็นเวลา 5 วัน เพื่อช่วยเติมขวัญและกำลังใจในหน้าหนาวที่ทั้งมืดมิดและเปล่าเปลี่ยว ภาพนี้ถ่ายขึ้นในขณะที่พวกเขากำลังเล่นปาหิมะ มีการนำที่กำบังมาวางไว้ตามจุดต่างๆ ในแคมป์ เพื่อให้ปาหิมะกันได้อย่างสนุกสุดเหวี่ยง

ไฮไลท์ของ ‘เทศกาลกลางฤดูหนาว’ นี้ คืองานเลี้ยงหน้าหนาวที่จัดขึ้นให้กับเหล่าสมาชิกเป็นเวลาถึง 2 วัน ในคณะสำรวจชุดที่ 56 นี้ มีพ่อครัวระดับมืออาชีพเดินทางมาด้วยถึง 2 ท่าน ท่านหนึ่งเป็นพ่อครัวที่เกิดในฝรั่งเศส อีกท่านเป็นพ่อครัวที่ผ่านการฝึกด้านอาหารญี่ปุ่นมาโดยเฉพาะ ใน 2 วันนี้ ทุกๆ คนจึงมีโอกาสได้แต่งตัวในชุดทางการมาลิ้มรสอาหารญี่ปุ่นชั้นเลิศในวันที่ 1 ตามด้วยมื้ออาหารฝรั่งเศสแบบเต็มคอร์สในวันส่งท้าย

ดูโพสต์บน Facebook ได้ที่นี่

■ปฏิบัติภารกิจนอกศูนย์ท่ามกลางหน้าหนาวที่ขั้วโลก กับการก่อสร้างเส้นทางลำเลียงและการผลิตพลังงานลม

สมาชิกจากยันม่าร์ร่วมปฏิบัติภารกิจนอกศูนย์ประจำการในฐานะหัวหน้าทีมซ่อมบำรุงเครื่องยนต์

หนึ่งในตัวอย่างภารกิจนอกศูนย์ประจำการ คือการก่อสร้างเส้นทางลำเลียงไปยังพื้นที่ชายฝั่งแลงโฮฟด์ที่อยู่ห่างจากสถานีโชวะออกไปประมาณ 30 กิโลเมตร แลงโฮฟด์เป็นสถานีวิจัยที่ต้องขับรถผ่านธารน้ำแข็งเพื่อเดินทางเข้าไป

แม้ว่าเราอาจจะพอคาดคะเนความหนาของหิ้งน้ำแข็งได้ แต่ก็ยังต้องใช้ความระมัดระวังในขณะขับขี่ เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น เช่น รอยแตกกลางแผ่นน้ำแข็งของเส้นทาง หรือสันแรงดันที่มีลักษณะคล้ายกับภูเขา ซึ่งเกิดจากการที่หิ้งน้ำแข็งผลักตัวเข้าหากัน

ดูโพสต์บน Facebook ได้ที่นี่

สถานีโชวะดำเนินงานโดยอาศัยพลังงานจากธรรมชาติ คุณยูซูเกะจึงมีโอกาสได้ตื่นตาตื่นใจไปกับเครื่องผลิตพลังงานลมที่มีหน้าตาไม่เหมือนใคร

เครื่องผลิตพลังงานลมทั่วไปมักใช้กังหันรูปใบพัด แต่อุปกรณ์ที่สถานีโชวะแห่งนี้ใช้กังหันรูปเสาเหลี่ยม ที่หมุนได้เร็วถึง 40 เมตร/วินาทีในช่วงที่มีพายุหิมะ กังหันจึงถูกสร้างให้สามารถทนต่อกระแสลมแรงได้

ดูโพสต์บน Facebook ได้ที่นี่

ตุลาคมถึงธันวาคม ฤดูใบไม้ผลิที่ขั้วโลกใต้กับการสำรวจวิจัยเพนกวินภาคสนาม

■เมื่อฤดูผสมพันธุ์ของเหล่าเพนกวินมาเยือน การสำรวจวิจัยสถานที่ผสมพันธุ์และจำนวนประชากรเพนกวินจึงเริ่มต้นขึ้น

เมื่อหน้าหนาวอันยาวนานปิดฉากลง ฤดูใบไม้ผลที่แอนตาร์กติกจึงเริ่มต้นขึ้น เมื่อเข้าฤดูใบไม้ผลิ เจ้าหน้าที่จึงเริ่มภารกิจสำรวจวิจัยเพนกวินอะเดลีประจำปี เพราะนี่เป็นช่วงที่เหล่าเพนกวินจะเดินทางกลับมายังถิ่นอาศัยในบริเวณรอบๆ สถานีโชวะเพื่อให้กำเนิดและเลี้ยงดูลูกน้อย

เพนกวินอะเดลีจะเดินทางกลับถิ่นที่อยู่เดิมเป็นประจำทุกปีเพื่อให้กำเนิดและเลี้ยงดูลูกน้อย การสำรวจชั้นต่างๆ ทางธรณีวิทยาในแถบนี้จึงช่วยให้เราเข้าใจระบบนิเวศน์ยุคโบราณของพื้นที่แถบนี้ได้ดียิ่งขึ้น

เราเรียกพื้นที่ทำรังของเหล่าเพนกวินว่ารูกเคอรี่ (rookery) เพนกวินจะเก็บหินก้อนเล็กๆ ที่กระจัดกระจายอยู่โดยรอบดังที่เราเห็นในภาพ มากองรวมกันสำหรับใช้วางไข่ เพื่อไม่ให้ไข่กลิ้งออกไปหรือโดนหิมะที่ละลายจนเย็นเกินไป ทำให้เกิดเป็นชั้นหินทางประวัติศาสตร์ชั้นแล้วชั้นเล่า

ดูโพสต์บน Facebook ได้ที่นี่

เมื่อเพนกวินเดินทางกลับรังในเดือนพฤศจิกายน ภารกิจหลักของเหล่านักวิจัยในคณะสำรวจ คือการตามเก็บข้อมูลจำนวนเพนกวินเพื่อจัดทำสำมะโนประชากรเพนกวิน

ก่อนที่จะเดินทางกลับมายังรูกเคอรี่ เพนกวินเหล่านี้เคยอาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งแอนตาร์กติกตอนเหนือ แต่เรายังไม่ทราบตำแหน่งที่แน่ชัดว่าพวกมันจับคู่ผสมพันธุ์กันที่ใด

เพนกวินน้อยกำลังจ้องมองมหาสมุทรใกล้กับรูกเคอรี่ ขณะถ่ายภาพเหล่านี้ จินตนาการของคุณยูซูเกะก็เริ่มล่องลอยออกไป เขาเริ่มสงสัยว่าเพนกวินตัวนี้อาจมีคนรักเฝ้ารออยู่ หรือบางทีคนรักของเขาอาจจากไปแล้วก็เป็นได้

ดูโพสต์บน Facebook ได้ที่นี่

■แนวคิดริเริ่มตามแบบฉบับญี่ปุ่นและการประสานงานกับสถานีวิจัยอื่นๆ จากทั่วโลก

ภาพถ่าย "การขนย้ายน้ำแข็ง" ในภาพนี้ เราจะเห็นว่าเหล่าเจ้าหน้าที่ได้กะเทาะน้ำแข็งบางส่วนมาจากภูเขาน้ำแข็งเพื่อที่จะนำกลับมายังญี่ปุ่น น้ำแข็งที่กะเทาะมาจะถูกนำไปใช้ที่ศูนย์วิจัยแอนตาร์กติกในญี่ปุ่น เพื่อช่วยเสริมสร้างความรู้และเผยแพร่กิจกรรมของสถานีให้แก่คนทั่วไป

น้ำแข็งจากแอนตาร์กติกจะมีลักษณะต่างจากน้ำแข็งทั่วไป เนื่องจากน้ำแข็งที่นี่เกิดจากการทับถมของหิมะ ทำให้มีฟองอากาศติดอยู่ภายในเป็นจำนวนมาก และเพราะฟองอากาศส่วนใหญ่ที่ติดอยู่ในน้ำแข็งนี้เป็นอากาศที่ถูกหิมะบีบอัดทับถมเข้าด้วยกัน การวิเคราะห์น้ำแข็งที่กะเทาะได้จากชั้นน้ำแข็งลึกในแถบนี้จึงช่วยให้นักวิจัยเข้าใจองค์ประกอบของบรรยากาศในโลกหลายล้านปีก่อนได้

ดูโพสต์บน Facebook ได้ที่นี่

เมื่อต้องเดินทางจากสถานีโนโวลาซาเรฟสกายาไปยังสถานีต่างๆ ที่ตั้งห่างออกไป เชื้อเพลิงเพียงหนึ่งถังจึงไม่เพียงพอ สถานีต่างๆ บนเส้นทางบินจึงให้ความช่วยเหลือในการเติมเชื้อเพลิงระหว่างเดินทาง แต่นอกจากความช่วยเหลือด้านเชื้อเพลิงแล้ว สถานีโชวะของเรายังมีบทบาทสำคัญในการช่วยสร้างทางวิ่งเครื่องบินบนหิ้งน้ำแข็งอีกด้วย

ตลอดระยะเวลา 1 ปีในคณะสำรวจ คุณยูซูเกะมีโอกาสได้ดูแลการลงจอดเช่นนี้ถึง 3 ครั้ง โดยครั้งหนึ่งที่ได้ต้อนรับเที่ยวบินที่เดินทางมาจากรัสเซียในช่วงกลางดึก คุณยูซูเกะยังได้รับผักสดจากสมาชิกบนเครื่องมาเป็นของฝากอีกด้วย

เย็นวันถัดมา เจ้าหน้าที่ทุกคนจึงได้อิ่มอร่อยกับสลัดจากผักสดๆ เหล่านี้

ดูโพสต์บน Facebook ได้ที่นี่

มกราคมถึงกุมภาพันธ์ การมาเยือนของทีมคณะสำรวจชุดที่ 57 กับ 2 เดือนสุดท้ายในแอนตาร์กติก

■คณะสำรวจชุดที่ 57 เดินทางมาถึงอย่างปลอดภัย

ช่วงเวลาในดินแดนแอนตาร์กติกของคุณยูซูเกะกำลังจะสิ้นสุดลง
เป็นเวลานานพอสมควรที่พวกเขาไม่ได้พูดคุยกับใครอื่นนอกจากเหล่าสมาชิกคณะสำรวจชุดที่ 56 ทั้ง 25 คนที่เดินทางมาด้วยกัน นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนมีขวัญกำลังใจเต็มเปี่ยม

อีกหนึ่งบุคคลที่เดินทางมาพร้อมกับคณะสำรวจชุดที่ 57 นี้ คือคุณทากาอากิ อิชิกาวะ ผู้ที่จะมารับหน้าที่ดูแลระบบผลิตกระแสไฟฟ้าต่อจากคุณยูซูเกะของเรา นั่นหมายความว่า ภารกิจแอนตาร์กติกครั้งนี้กำลังจะปิดฉากลงแล้ว

ดูโพสต์บน Facebook ได้ที่นี่

■คณะสำรวจเดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัยหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจของปีนี้

คณะสำรวจชุดที่ 57 ที่เพิ่งเดินทางมาถึง เริ่มเข้าประจำการในการดำเนินงานทุกส่วน มีการเปลี่ยนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยอาศัยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อเพลิงดีเซลที่เดินทางมากับเรือสำรวจวิจัยแอนตาร์กติก "ชิราเสะ" และนับจากนี้ เรือ "ชิราเสะ" จะมีเจ้าหน้าที่หญิงมาร่วมด้วย เราจึงได้เจ้าหน้าที่หญิง 1 ท่านจากเรือ "ชิราเสะ" มาให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ เพราะความหลากหลายเป็นอีกสิ่งที่สถานีวิจัยต่างๆ ในแอนตาร์กติกาให้ความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน

ภารกิจส่งต่อหน้าที่ให้กับคุณทากาอากิจึงเป็นอันเสร็จสมบูรณ์ หลังจากผ่านไป 14 เดือน เวลาของคุณยูซูเกะในดินแดนแอนตาร์กติกก็ปิดฉากลง

ดูโพสต์บน Facebook ได้ที่นี่

รายงานเกี่ยวกับคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาชุดที่ 56 โดยคุณยูซูเกะ ทาคากิจากทีมเพาเวอร์ โซลูชั่น บิซิเนสของยันม่าร์ ได้รับการรวบรวมและส่งต่อเป็นที่เรียบร้อย แม้ว่าเราจะไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวการดำเนินงานได้ในทุกซอกทุกมุม แต่เรามุ่งหวังให้คำบอกเล่าต่างๆ เหล่านี้เป็นประตูสู่ความเข้าใจ ที่จะทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพการดำเนินงานในพื้นที่แอนตาร์กติกชัดเจนยิ่งขึ้น

เราจะนำประสบการณ์จากคณะสำรวจชุดที่ 57 ที่คุณทากาอากิ อิชิกาวะจากทีมเพาเวอร์ โซลูชั่น บิซิเนสได้รับมาให้ได้ดูกันเช่นเคยผ่านทางหน้า Official Facebook ของยันม่าร์ ผู้อ่านท่านใดที่ชื่นชอบรายงานเช่นนี้ อย่าลืมเข้าไปติดตามรายงานจากคุณทากาอากิในเพจ Facebook กันนะคะ

อย่าลืมคอยติดตามบทความต่อไปจากวายมีเดียกับเรื่องราวของคณะสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาจากญี่ปุ่น (JARE)